การเมือง

สถาบันกษัตริย์

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี คณะราษฎร์ได้กระทำรัฐประหาร และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งสาม อันได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

ปัจจุบันประมุขแห่งราชอาณาจักรไทยคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

แม้ในทางปฏิบัติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ อันเป็นแบบอย่างในการปกครองประเทศ แต่เนื่องจากพระองค์ทรงปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จึงไม่มีบทบาทโดยตรงทางการเมือง แต่ทรงเป็นศูนย์รวมและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนชาวไทยเสมอมา โดยเฉพาะในยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ดังเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐเป็นเวลานานที่สุดในโลก นับจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลากว่า 60 ปี

รัฐบาลและสถาบันการปกครอง

อำนาจอธิปไตยของไทยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิก 2 ส่วน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยประชาชน และวุฒิสมาชิก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามการเสนอขึ้นโปรดเกล้าฯ ของนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายคือฝ่ายตุลาการ หรือศาล มีหน้าที่พิจารณาคดีความต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลมีความเป็นอิสระจากรัฐสภาและรัฐบาล มีคณะกรรมการตุลาการทำหน้าที่ควบคุมการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ เพื่อให้ศาลเป็นสถาบันที่ธำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง

ปัจจุบันอำนาจนิติบัญญัติมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานรัฐสภาเป็นประมุข อำนาจบริหารมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประมุข และอำนาจตุลาการมีนายไพโรจน์ วายุภาพ ในฐานะประธานศาลฎีกา นายชัช ชลวร ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายอักขราทร จุฬารัตน ในฐานะประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประมุขในส่วนของตน

การบริหารงานของสถาบันการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

-ส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และส่วนราชการอื่นที่เทียบเท่า

-ส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 75 จังหวัด ซึ่งแยกย่อยได้เป็นอำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

ส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็นเทศบาล (เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล) องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้แบ่งเขตภูมิภาคของประเทศไทยออกเป็น 4 ภาค (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) คือ

ภาคกลางมี 25 จังหวัด ประกอบด้วยกาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง รวม 18 จังหวัด และจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกอีก 7 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 19 จังหวัด ประกอบด้วยกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี

ภาคใต้มี 14 จังหวัด ประกอบด้วยกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี

ภาคเหนือมี 17 จังหวัด ประกอบด้วยกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานีการเมือง

One thought on “การเมือง”

ใส่ความเห็น